ยินดีต้อนรับ บล็อกนี้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ความผิดทางอาญา



1. ความผิดทางอาญา
                ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ   เมื่อบุคคลใดกระทำความผิดทางอาญา จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด กฎหมายมิได้ถือว่าการกระทำความผิดทุกอย่างร้ายแรงเท่าเทียมกัน การลงโทษผู้กระทำความผิดจึงขึ้นอยู่กับการกระทำ และสังคมมีความรู้สึกต่อการกระทำนั้นๆ ว่า อะไรเป็นปัญหาสำคัญมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะแบ่งการกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
                1.1 ความผิดต่อแผ่นดิน หมายถึง ความผิดในทางอาญา ซึ่งนอกจากเรื่องนั้นจะมีผลต่อตัวผู้รับผลร้ายแล้ว ยังมีผลกระทบที่เสียหายต่อสังคมอีกด้วย และรัฐจำเป็นต้องป้องกันสังคมเอาไว้ด้วยการยื่นมือเข้ามาเป็นผู้เสียหายเอง ดังนั้นแม้ผู้รับผลร้ายจากการกระทำโดยตรงจะไม่ติดใจเอาความ แต่ก็ยังต้องเข้าไปดำเนินคดีฟ้องร้องเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้
               1.2 ความผิดอันยอมความกันได้ หมายถึง ความผิดในทางอาญาซึ่งไม่ได้มีผลร้ายกระทบต่อสังคมโดยตรง หากตัวผู้รับผลร้ายไม่ติดใจเอาความแล้ว รัฐก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และถึงแม้จะดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อตัวผู้เสียหายพอใจยุติคดีเพียงใดก็ย่อมทำได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความ เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เป็นต้น
    2. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาและได้รับโทษทางอาญาเมื่อใด
                บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อ
                1 กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
                กรณีตัวอย่างที่ 1 นายฟักรู้ว่านายแฟง ซึ่งเป็นศัตรูจะต้องเดินผ่านสะพานข้ามคลองหลังวัดสันติธรรมทุกเช้าเวลาประมาณ 08.00 น. เขาจึงไปดักซุ่มอยู่ใกล้บริเวณนั้น เมื่อนายแฟงเดินมาใกล้นายฟักจึงใช้ปืนยิงไปที่นายแฟง 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าอกของนายแฟง เป็นเหตุให้นายแฟงถึงแก่ความตาย นายฟักมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
                กรณีตัวอย่างที่ 2 ดาวเรืองทะเลาะกับบานชื่น ดาวเรืองพูดเถียงสู้บานชื่นไม่ได้ ดาวเรืองจึงตบปากบานชื่น 1 ที่ ดาวเรืองมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเจตนา
                2 กระทำโดยไม่เจตนา แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยแจ้งชัดให้รับผิดแม้กระทำโดยไม่เจตนากระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ เช่น เราผลักเพื่อนเพียงจะหยอกล้อเท่านั้น แต่บังเอิญเพื่อนล้มลงไป ศีรษะฟาดขอบถนนถึงแก่ความตาย เป็นต้น
                3 กระทำโดยประมาท แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทการกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
                กรณีตัวอย่าง นายเหิรฟ้าใช้อาวุธปืนขู่นายเหิรลม เพื่อไม่ให้เอาแป้งมาป้ายหน้านายเหิรฟ้า โดยที่นายเหิรฟ้าไม่รู้ว่าอาวุธปืนกระบอกนั้น มีลูกกระสุนปืนบรรจุอยู่ เป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นไปถูกนายเหิรลมตาม นายเหิรฟ้ามีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
                อนึ่ง “การกระทำ” ไม่ได้หมายความเฉพาะถึงการลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการงดเว้นการกระทำโดยประสงค์ให้เกิดผลและเล็งเห็นผลที่จะเกิดเช่น แม่จงใจทิ้งลูกไม่ให้กินข้าว จนทำให้ลูกตาย ตามกฎหมายแม่มีหน้าที่จะต้องเลี้ยงดูลูก เมื่อแม่ละเลยไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ลูกตาย ย่อมเป็นการกระทำความผิดโดยงดเว้น ถ้าการงดเว้นนั้นมีเจตนางดเว้นก็ต้องรับผิดในฐานะกระทำโดยเจตนา ถือว่าเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
บุคคลจะต้องได้รับโทษทางอาญาต่อเมื่อ
                1. การกระทำอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีความผิดโดยปราศจากกฎหมาย”
                2. กฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นต้องกำหนดโทษไว้ด้วย เป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย” การลงโทษต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดโทษปรับศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ แม้ศาลจะลงโทษปรับศาลก็ลงโทษปรับเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้
                กรณีตัวอย่าง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 372 บัญญัติว่า ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ หรือสาธารณสถานหรือกระทำโดยประการอื่นใด ให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารณะสถานต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท  ดังนั้น ถ้าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้  เพราะความผิดตามมาตราดังกล่าวกำหนดเฉพาะโทษปรับเท่านั้น ถ้าศาลจะลงโทษปรับก็จะปรับได้ไม่เกิน 500 บาท

ข้อขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.thaigoodview.com/node/89936

กฎหมาย กับ ศาสนา ในประเทศไทย


      เนื่องจากความแตกต่างอย่างมากในเรื่องจารีตทางศาสนา การนับถือศาสนาของบุคคล จึงควรเป็นเรื่องที่มีผลทางศาสนาอย่างจริงจัง มากกว่าเป็นเพียงส่วนที่ประดับในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไทยเท่านั้น

           ผมเห็นด้วยว่า ประเทศไทยไม่ควรมีศาสนาประจำชาติ แต่ก็ควรรมีกฎหมายบังคับใช้ สำหรับบุคคลในแต่ละศาสนา ที่มีความต่างในเรื่องจารีต ต่างๆกันไป และเมื่อมันเป็นเรื่องจริงจัง การนับถือศาสนาจึงควรกระทำอย่างจริงจัง

           เมื่อบุคคลมีวัยวุฒิเพียงพอ คือ เมื่อทำบัตรประชาชนครั้งแรก อายุ 15 ปีบริบูรณ์ หรือไม่ก็ เมื่อมีวุฒิภาวะเพียงพอ คืออย่างน้อย 18 ปีบริบูรณ์ เท่าๆกับที่ได้รับสิทธิในการเลือกตั้งควรมีการเลือกศาสนาอย่างจริงจัง โดยมีกระบวนการที่เป็นแบบแผน ควรได้รับการอ้างอิงจากผู้นำทางศาสนาในระดับท้องถิ่นเป็นต้น ว่าบุคคลดังกล่าว เป็นผู้นับถือและประพฤติตัว อยู่ในศาสนานั้นๆจริง

            ทำไมจึงเป็นเรื่องจริงจัง?  ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดบทหนึ่ง คือเกี่ยวกับเรื่องการสมรส ที่นอกจากศาสนาอิสลามที่ผู้ชาย 1 คน สามารถสมรสกับ หญิงได้ถึง 4 คนแล้ว ศาสนาอื่น เท่าที่ทราบ เชื่อว่าควรมีคู่สมรสแค่ 1 คนเท่านั้น

            เท่าที่นึกออก คงมีผลอย่างมากในเรื่องการรับรองบุตร เรื่องสินสมรส และเรื่องเกี่ยวกับมรดก เชื่อว่า สำหรับประชาชนในศาสนาอิสลาม คงมีปัญหากันมายาวนาน และอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่เขาอยากได้กฎหมายอิสลามกัน

            ต่อเนื่องจากการเลือกศาสนา คือกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสมรส คือหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว ควรบังคับให้ต้องทำบัตรประชาชนใหม่ในทันที ซึ่งบัตรประชาชน จะต้องระบุชื่อคู่สมรสไว้อย่างชัดเจนด้วย สิ่งนี้ไม่ได้เป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับช่วยปกป้องสิทธิฯให้กับประชาชนในหลายๆด้านด้วย ทั้งป้องกันการจดทะเบียนซ้อน การหลวกลวง ฉ้อโกง ทำฉ้อฉลต่างๆ

            รวมไปถึงการมีชู้ ที่ควรจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ที่มีโทษรุนแรงสักหน่อย มากกว่าจะปล่อยให้แล้วแต่จารีตของแต่ละสังคม เพราะปัญหาเรื่องชู้สาว มีผลกระทบต่อสังคมในหลายมิติ มีทั้งเสียทรัพย์ เสียประโยชน์ ปัญหาเยาวชน หรือเสียชีวิต เป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียต่อรัฐไปมากมายในแต่ละปี เพราะปัญหาเรื่องชู้สาว ก่อให้เกิดคดีตามมาอีกมากมาย เฉพาะคดีฆาตกรรมก็มากมาย และยังนำไปสู่การหย่าร้าง กลายเป็นคดีมรดก การเกิดเด็กกำพร้าหรือเยาชนที่เป็นภาระของรัฐจำนวนมาก เป็นต้น

            ไม่ว่าจะมองในมิติใด ประเทศไทยก็ไม่ควรจะละเลยในปัญหาดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องจัดการอย่างจริงจัง เพราะชาติจะเข้มแข็งได้ สถาบันครอบครัวก็ต้องแข็งแกร่งเสียก่อน หากละเลยเช่นปัจจุบันต่อไป ลูกหลานในอนาคต อาจเรียกร้องให้เปิดเป็นเพศเสรี(Free Sex)เสียเลย ก็เป็นได้ เพราะนับวัน ระบบจารีตนั้น อ่อนแอลงทุกวัน แค่ปัจจุบัน ก็แทบควบคุมใครไม่ได้อยู่แล้ว

             ที่ผ่านมา เราถือว่ากฎหมายประชาชนต้องปฏิบัติตามโดยเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริง เราย่อมรู้ว่า มันยังไม่เหมาะสมเพียงพอกับความแตกต่างที่มีอยู่จริงของคนในสังคม โดยเฉพาะความต่างทางศาสนา ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางสามจังหวัดชายแดนใต้ ใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวเป็นสำคัญ หากรัฐมีการปรับตัวเข้าหาประชาชนอย่างเหมาะสม ก็ควรสร้างทางออกนี้ให้กับประชาชน แทนที่จะบังคับด้วยวิธีต่างๆนานา ให้ประชาชนปรับตัวเข้าหารัฐแต่ถ่ายเดียว

             หากสิ่งนี้ ได้เป็นจริงขึ้นมาในอนาคต ศาลยุติธรรมก็จำเป็นต้องมีความชำนาญพิเศษในเรื่องศาสนามากขึ้น วิธีพิจารณาคดีของบุคคลในแต่ละศาสนาจะละเลยหลักยึดถือในการดำเนินชีวิตของแต่ละศาสนาไปไม่ได้

             ความคิดนี้ ผมนำมาแบ่งปัน เพราะอาจเป็นทางออกให้ประเทศไทยสงบสุขลงได้ โดยเฉพาะอาจสามารถช่วยแก้ปัญหาทางใต้ได้อีกทางหนึ่ง ที่ผมยกขึ้นมานี้ เป็นเพียงประเด็นเล็กๆ เพียงเรื่องเดียว จากปัญหาอีกมากมายในเรื่องความต่างทางศาสนากับกฎหมายไทย หากผู้มีอำนาจบริหารประเทศ เห็นความสำคัญของเรื่อง ความเข้มแข็งทางศาสนาในชาติมากพอ ประเทศย่อมเข้มแข็งตามไปด้วย ความสงบสุขย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://en-gb.facebook.com/notes/tanadej-tamanakin/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/155104767860180

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

มัดจำ กับเบี้ยปรับ


มัดจำ
            มัดจำ คือ สิ่งที่คู่สัญญาได้ส่งมอบให้ไว้แก่กัน ซึ่งอาจเป็นเงิน หรือของมีค่าในตัว เพื่อเป็นพยาน หรือเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา เช่น สร้อยคอทองคำ แหวนเพชร (โฉนดที่ดิน หนังสือค้ำประกันธนาคาร สัญญากู้เงิน ไม่มีค่าในตัวเอง ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร โดยสภาพส่งมอบไม่ได้ ดังนั้น ให้ไว้จึงไม่ใช่มัดจำ)
            มัดจำมิใช่การชำระหนี้ล่วงหน้า เมื่อชำระหนี้เสร็จต้องคืนมัดจำ
            มัดจำเป็นสัญญาอุปกรณ์ ดังนั้นจะสมบูรณ์หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับสัญญาประธาน
            การริบมัดจำเป็นกฎหมายพิเศษ ลูกหนี้ไม่มีสิทธิขอหักมัดจำเพื่อชำระหนี้ และถ้ายังชำระหนี้ไม่ครบถ้วนสิ้นเชิง มัดจำต้องถูกยึดไว้เป็นประกันต่อไป ถ้ามิได้ตกลงเรื่องการริบมัดจำ ต้องปฏิบัติดังนี้
                        ให้จัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วน
ให้คืน เมื่อชำระหนี้สิ้นเชิง
                ให้คืน เมื่อฝ่ายที่รับมัดจำไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันต้องรับผิดชอบ                
                        ให้ริบ เมื่อฝ่ายวางมัดจำ ไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันต้องรับผิดชอบ จะริบมัดได้จำต้องเลิกสัญญาก่อน
หากเจ้าหนี้บังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เจ้าหนี้หมดสิทธิริบมัดจำ แต่ไม่ตัดสิทธิเรียกค่าเสียหายตามมาตรา ๒๒๒,๒๒๓  เว้นแต่กำหนดในสัญญาห้ามเรียกได้ไม่ขัดมาตรา ๓๗๓


เบี้ยปรับ
            เบี้ยปรับ คือ การกำหนดจำนวนเงิน หรือการกำหนดการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันหนึ่งอันใด เพื่อเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทน ซึ่งคู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร การกำหนดเบี้ยปรับเป็นสัญญาอุปกรณ์ หากการชำระหนี้ตามสัญญาประธานไม่สมบูรณ์ ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับย่อมไม่สมบูรณ์ด้วย แม้คู่สัญญาจะรู้ว่าข้อสัญญานั้นไม่สมบูรณ์ก็ตาม เช่น สัญญาเช่าซื้อกฎหมายกำหนดต้องทำเป็นหนังสือ ข้อสัญญาเรื่องเบี้ยปรับก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
ประโยชน์ของเบี้ยปรับ
๑.    เป็นประกันความรับผิดตามสัญญา โดยริบได้โดยไม่ต้องนำสืบพิสูจน์ถึงความเสียหาย
๒.   เป็นการชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าหนี้ทุกอย่างไม่เฉพาะแต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน แม้เจ้าหนี้ไม่เสียหายก็มีสิทธิริบเบี้ยปรับได้อันเป็นการลงโทษฐานผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ เช่น ผิดสัญญาไม่ซื้อที่ดิน แม้ที่ดินจะมีราคาสูงขึ้นเจ้าหนี้ไม่ได้รับความเสียหาย ก็มีสิทธิริบเบี้ยปรับได้ตามสัญญา
๓.   เป็นการจำกัดความรับผิดของลูกหนี้ สามารถกำหนดไว้ในสัญญาได้ว่าไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายอื่นอีกได้


การกำหนดเบี้ยปรับเป็นเงิน
เจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับ สิทธิที่จะเรียกให้ชำระหนี้เป็นอันระงับ แต่การเรียกเอาเบี้ยปรับไม่ตัดสิทธิเรียกค่าเสียหายตามมาตรา ๒๒๒ (ค่าเสียหายเฉพาะกรณีการเลิกสัญญา เท่านั้น ได้แก่ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ จากพฤติการณ์ที่คู่กรณีคาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ต้องรู้หรือควรรู้ล่วงหน้าก่อนผิดสัญญาจนถึงขณะที่ผิดสัญญา เช่น กำไรที่คาดว่าจะได้รับจากการนำสินค้าไปขายต่อ เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษ ผู้สั่งซื้อจึงต้องพิสูจน์ว่าผู้ขายได้รู้หรือควรจะรู้ถึงการที่จะนำทรัพย์นั้นไปขายต่อเอากำไร , ฏ ๑๓๔๖/๒๕๑๗ป. ค่าใช้จ่ายในการไปมาเพื่อฟ้องคดี ค่าใช้จ่ายของทนายความ ไม่ใช่ค่าเสียหาย ตาม ๒๒๒)
            เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ สิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับย่อมหมดไป แต่เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนในฐานจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายได้ โดยต้องพิสูจน์ค่าเสียหายตาม ๓๘๐ วรรค ๒
            เบี้ยปรับเป็นสัญญาอุปกรณ์ สัญญาประธานต้องสมบูรณ์ถึงจะบังคับได้
เบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลปรับลดลงพอสมควรได้ แต่เมื่อได้ใช้เงินค่าปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายกรณีในสัญญามีการกำหนดค่าปรับ
        กรณี ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เลย  (การไม่ชำระหนี้ หมายถึงอาจเป็นการไม่ชำระหนี้สิ้นเชิงหรือบางส่วน หรือไม่ชำระหนี้ประธานหรือหนี้อุปกรณ์ เช่น ดอกเบี้ย ก็ได้ ปพพ. ๓๘๗,๓๘๘)
                        หากเจ้าหนี้เลือกเอาเบี้ยปรับ สิทธิเลือกให้ชำระหนี้เป็นอันระงับ โดยเจ้าหนี้ต้องบอกเลิกสัญญาก่อน แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้เรียกค่าเสียหายตามมาตรา ๒๒๒
และหากสัญญากำหนดห้ามเรียกค่าเสียหาย ก็เรียกค่าเสียหายอีกไม่ได้ ถือว่าเบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายแล้ว เขียนสัญญายกเว้นมาตรา ๒๒๒ ได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
                        หากเจ้าหนี้เลือกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ สิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับย่อมหมดไปตามมาตรา ๒๑๓ แต่เรียกค่าเสียหายตามความเป็นจริงได้ตามมาตรา ๓๘๐ วรรค ๒

 
กรณีชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร เช่น ไม่ตรงตามกำหนดเวลา
            หากเจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับได้ด้วย ถ้าเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายมากกว่าเบี้ยปรับ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนโดยพิสูจน์ค่าเสียหาย ตามมาตรา ๓๘๐ วรรค ๒ แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เสียหายหรือเสียหายน้อยกว่าเบี้ยปรับ ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายมากกว่าเบี้ยปรับ (ฏ ๒๒๑๖/๒๕๑๕ ป.)
            หากเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้ โดยยังไม่ได้รับเบี้ยปรับ ต้องสงวนสิทธิไว้ ( การสงวนสิทธิไม่มีการกำหนดรูปแบบไว้ ดังนั้น จึงจำต้องแสดงเจตนาให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ได้รู้เข้าใจการแสดงเจตนาดังกล่าว แต่การที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ครบ จะถือว่าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้วไม่ได้ จึงไม่ต้องสงวนสิทธิ ฏ ๑๐๗๘/๒๔๙๖)
            หากเจ้าหนี้ยอมรับเบี้ยปรับโดยยังไม่ได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ ไม่ต้องสงวนสิทธิ
            หากเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้
ให้ใช้สิทธิตามสัญญาเรียกเบี้ยปรับ แต่สิทธิเรียกให้ชำระหนี้ย่อมขาดไป และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามความเป็นจริงตาม ๒๒๒ โดยต้องพิสูจน์ หากเจ้าหนี้ไม่ได้รับความเสียหายจากการไม่ชำระหนี้ของลูกหนี้ หรือเสียหายน้อยกว่าเบี้ยปรับ ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม เพราะไม่มีความเสียหายที่จะพิสูจน์เอาได้
ให้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา เพื่อคู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามมาตรา ๓๘๑ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ได้ตามมาตรา ๒๑๖
(ฏ ๖๖๔/๒๕๓๐ เบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เมื่อโจทก์เรียกร้องเอาเบี้ยปรับและจำนวนเบี้ยปรับสูงกว่าค่าเสียหาย โจทก์จึงเรียกเอาค่าเสียหายอีกไม่ได้เพราะเป็นการเรียกเอาค่าเสียหายที่เกินกว่าความเสียหายที่ได้รับ ขัดต่อ ปพพ.มาตรา ๓๘๐ วรรค ๒)
อย่างไรก็ตามหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามมาตรา ๓๘๓ โดยพิจารณาจากทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย
            อนึ่ง หากมีการกำหนดเบี้ยปรับเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน เจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับแล้วไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทน (ปพพ. มาตรา ๓๘๒)
ความแตกต่างระหว่างมัดจำกับเบี้ยปรับ

มัดจำ
เบี้ยปรับ
๑. เป็นสิ่งที่คู่สัญญาให้ไว้แก่กันเพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา
๑. เป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทน ซึ่งคู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้า หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควร

๒. เป็นเงินหรือสิ่งของมีค่าในตัวเอง
๒. เป็นเงิน หรือการชำระหนี้อย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน ได้แก่ การกระทำ งดเว้นการกระทำ หรือส่งมอบทรัพย์สิน
๓. คู่สัญญาต้องส่งมอบให้ไว้แก่กับ
๓. คู่สัญญาอาจส่งมอบแก่กัน หรือเพียงกำหนดเบี้ยปรับโดยไม่ส่งมอบก็ได้
๔. ต้องส่งมอบไว้แก่กันขณะทำสัญญาๆ
๔. อาจส่งมอบหรือตกลงกำหนดไว้มนสัฯฯอันก่อหนี้หรือสัญญาเพิ่มเติมในภายหลังก็ได้


ข้อขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.ocpb.go.th/board_post.asp?id=1965&idsub=5