ยินดีต้อนรับ บล็อกนี้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การเรียนนิติศาสตร์อย่างไร ให้จบภายใน 4 ปี

การเรียนนิติศาสตร์ เป็นการเรียนกฎหมาย เพื่อที่จะให้รู้กฎหมายและใช้กฎหมาย
เป็น ศึกษาทั้งทางด้านเนื้อหาของกฎหมาย และนิติวิธี (วิธีคิดเกี่ยวกับกฎหมาย)
เป็นศาสตร์เฉพาะทาง เพื่อจะนำไปประกอบวิชาชีพต่อไป ในความคิดของข้าพเจ้า
ถือว่าเป็นศาสตร์ที่มีความยากที่จะศึกษาให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง เพราะจะต้องเรียน
รู้ศึกษาต่อยอดต่อไปตลอดชีวิตไม่มีที่สิ้นสุดเลยทีเดียว แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อมั่นว่า สิ่ง
ใดก็ตามไม่เกินความสามารถของมนุษย์เราไปได้ ดังคำกล่าวที่หลายคนอาจจะเคย
ได้ยินที่ว่า “เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ หรือ...ไม่ได้ทำ?” ฉะนั้นจึงไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่
ได้ สำหรับมนุษย์เรา หากเรามีความรักในสิ่งนั้น มีความพยายามและไม่ท้อถอยที่
จะทำ
เรื่องการเรียนนั้น ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า แยกออกเป็น 2 อย่างคือ การเรียน
เพื่อให้ได้ความรู้ และการเรียนเพื่อสอบ
1) การเรียนเพื่อให้ได้ความรู้ เป็นการเรียนรู้อย่างเข้าใจ ครอบคลุมทั้งหมด โดย
ศึกษาค้นคว้าและอ่านตำราอย่างมาก ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อจะได้มีความรู้
มากๆและนำไปใช้ได้ ไม่เฉพาะแต่วิชาที่เรียนเท่านั้นแต่เป็นการเรียนรู้และรอบรู้ใน
สิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านบทความ อ่านคำพิพากษาฎีกา
หรือคำบรรยายต่างๆ เป็นต้น จะช่วยในการวิเคราะห์และจดจำหลักกฎหมายได้ดีขึ้น
จะไม่ลืมเพราะเข้าใจแล้ว สามารถเชื่อมโยงและต่อยอดได้ เป็นประโยชน์ในการนำ
ไปประยุกต์ใช้ต่อเนื่องได้
อย่างไรก็ตามบางคนที่อ่านมาก รู้มาก บางทีก็อาจสอบไม่ผ่านก็เป็นได้ เพราะไม่
สามารถจับประเด็นสำคัญๆไว้ได้หมด หรือจำสับสนจนตอบไม่ตรงประเด็นก็ได้ จึง
ต้องเรียนอย่างเข้าใจและจัดระบบความคิดให้ถูกต้อง แน่นอน ชัดเจน และแม่นยำ
2) การเรียนเพื่อสอบ เป็นการเรียนรู้เพียงบางส่วนเท่าที่อาจารย์สอนหรือเน้น โดย
ไม่สนใจศึกษาเพิ่มเติมเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ท่องจำเอาเฉพาะบางส่วน หรือเก็งข้อ
สอบเอา ทำให้เนื้อหาไม่แน่น เรียนไปแล้วก็ลืม พอไปในระดับที่สูงขึ้นก็จะเป็นการ
ยากต่อการทำความเข้าใจ หรือเข้าใจผิดไป เปรียบเสมือนกับตาบอดคลำช้าง รู้แต่
เฉพาะส่วนที่ตนเองคลำ แต่ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนคลำนั้นทั้งหมดทั้งมวลความจริงแล้ว
เป็นช้าง จะทำให้ความรู้ที่ได้ไม่ต่อเนื่อง และจะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ถึงแม้จะ
สอบผ่านได้คะแนนดีก็ตาม แต่ก็ไม่มีความรู้ที่ดีพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
การเรียนกฎหมายนั้นจำเป็นจะต้องอ่านและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมให้มากและอย่าง
เข้าใจ เพราะหากไม่เข้าใจแล้วจะไม่สามารถเชื่อมต่อหรือเชื่อมโยงหลักกฎหมาย
ได้ อีกทั้งจะเป็นการยากต่อการจดจำทำความเข้าใจ
ทางด้านเทคนิคในการเรียนกฎหมาย สำหรับข้าพเจ้านั้น ที่สำคัญที่สุดคือ การตั้งใจ
เรียนภายในห้องเรียนและจดคำบรรยายของอาจารย์ผู้สอนด้วยภาษาของตนเอง
ตอนแรกๆอาจจะยาก เพราะยังจับประเด็นไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะจดตรงไหน ยังไง แต่
หากเราตั้งใจและตั้งสมาธิให้ดี พยายามฟังให้เข้าใจ และจดตามที่เราเข้าใจ หากจด
ไม่ทันก็อาจไปตรวจทานดูกับเพื่อนที่เราเห็นว่ามีความสามารถในการจดละเอียด
กว่า หรืออาจสอบถามกับอาจารย์ผู้สอนเลยก็ได้ จะทำให้ได้ประโยชน์เป็นอันมาก
ปัญหาที่สำคัญ คือ สมาธิสั้น และง่วงนอน ทางแก้ก็คือถ้าง่วงก็นอนไปเลยในช่วงที่
ได้พัก หรือขออนุญาตออกไปล้างหน้าล้างตาเสีย และจะต้องมีความตั้งใจ ความ
อดทน อดกลั้น เอาชนะใจตนเองให้ได้จริงๆ
สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ การรู้จักวางแผนแบ่งเวลา เช่น เวลาส่วนตัว เวลาพักผ่อน
เวลาอ่านหนังสือทบทวนบทเรียน เวลาออกกำลังกาย เวลาทำกิจกรรม เป็นต้น
สำหรับการอ่านหนังสือนั้นจะต้องทำให้สม่ำเสมอ อ่านไปวันทีละเล็กละน้อย โดย
เฉพาะวิชาที่เราไม่ถนัดหรือไม่เข้าใจ และจดโน้ตสั้นๆเพื่อทำความเข้าใจไปด้วย
เป็นการทบทวนซ้ำทำให้จำง่ายขึ้น ทั้งยังทำให้เข้าใจในการเรียนในห้องเรียนเพิ่ม
ขึ้นอีกด้วย พยายามจับประเด็นที่สำคัญและหลักกฎหมายที่ใช้ให้ได้ โดยอาจจะย่อ
เป็นคีย์เวิร์ดสั้นๆ ตามความเข้าใจของเราเองก็ได้
ในช่วงที่ไม่มีการสอบนั้น เราไม่ควรที่จะปล่อยเวลาทิ้งไปเพราะคิดว่ายังไม่ใกล้สอบ
อ่านไปก่อนแล้วก็ลืมอยู่ดี นั่นเป็นวิธีการคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้ว
ว่า การอ่านหนังสือจะต้องทำให้สม่ำเสมอ โดยอาจอ่านก่อนเรียนวิชานั้นไปสักเล็ก
น้อย ตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้มาก และเมื่อเรียนเสร็จแล้วก็กลับไปทบทวนในวัน
นั้นเลย อย่าปล่อยทิ้งไป จะทำให้เราจับส่วนที่สำคัญของวิชานั้นได้ เนื่องจากการ
บรรยายแต่ละครั้งอาจารย์ย่อมเอาส่วนที่สำคัญๆที่เราต้องรู้มาสอนเราอยู่แล้ว หาก
ปล่อยนานไปก็จะเหมือนดินพอกหางหมู จะทำให้คิดว่าเนื้อหาเยอะมากจน อ่านไม่
ทันไม่รู้ว่าส่วนไหนที่สำคัญและไม่สามารถจับประเด็น การอ่านอย่างสม่ำเสมอนี้จะ
ทำให้เข้าใจ ไม่สับสน จดจำได้แม่นยำ และมีเวลาเพิ่มขึ้นในการที่จะทำความเข้าใจ
ในส่วนที่ยาก หากเรามาอ่านเฉพาะช่วงใกล้สอบ จะอ่านไม่ทัน จำไม่แม่น สับสน
ถูกหลอกง่าย เข้าใจผิดๆ นำไปสู่ความผิดพลาดในการทำข้อสอบในที่สุด
เราต้องลำดับความสำคัญของแต่ละวิชาที่เราจะศึกษา ว่าจะอ่านอะไรก่อนหลัง
โดยเฉพาะช่วงใกล้สอบ คณะของเราวิชาส่วนใหญ่จะสอบปลายภาค100 คะแนน
เต็ม เราจะต้องดูตารางสอบให้ดี เพื่อจะได้แบ่งระยะเวลาการอ่านและทบทวนได้ถูก
ต้อง โดยอาจพิจารณาจากความถนัดหรือความชอบของตนเอง หากเราทำในสิ่งที่
เราชอบ คือมีฉันทะมาก่อน เราจะไม่คิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นหนักหรือเหนื่อย อีกอย่างก็
คือการซ้อมฝึกทำข้อสอบก่อน ยิ่งฝึกทำมากเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ จะทำให้เรา
สามารถจับหลักสำคัญๆของวิชานั้นได้ ทราบประเด็นที่ข้อสอบอาจจะถาม ช่วยใน
การจดจำและเป็นการทบทวนความเข้าใจของเราไปในตัว ซึ่งการหาข้อสอบเก่ามา
ทำนั้นอาจสอบถามกับอาจารย์ รุ่นพี่ หรือเพื่อนก็ได้
การเตรียมตัวสอบ เราต้องรู้จักบริหารเวลาดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อเราอ่านมามากพอ
ก็ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร ทำใจให้สบายๆ พักผ่อนให้พอเพียง และทบทวนหลัก
สำคัญๆที่เราโน้ตย่อไว้ให้แม่นยำขึ้นเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว เทคนิคการทำข้อสอบ
ควรวางแผนการทำข้อสอบมาก่อน โดยแบ่งเวลาทำแต่ละข้อให้ดี อ่านข้อสอบให้
จบและละเอียด อาจขีดเส้นคีย์เวิร์ดที่สำคัญหรือที่เป็นประเด็นคำถามเอาไว้ว่ามีกี่
ประเด็น จับประเด็นให้ได้ ในการสอบวิชากฎหมายอาจแยกข้อสอบได้เป็น 2 แบบ
คือ ข้อสอบแบบอธิบาย และข้อสอบแบบตุ๊กตา
ข้อสอบแบบอธิบายเราต้องคิดหัวข้อสำคัญๆในเรื่องที่ถามไว้ ให้ครอบคลุมและ
อธิบายหัวข้อนั้นให้คนอ่านเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อ ยกตัวอย่างประกอบด้วยจะ
ทำให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ใช้ภาษาที่คนอ่านเข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าเป็นภาษา
กฎหมายก็ควรใช้อย่างถูกต้อง
ถ้าเป็นข้อสอบแบบตุ๊กตา (มีอุทาหรณ์ ข้อเท็จจริง ให้วิเคราะห์) ต้องตอบแบบฟังธง
ให้เห็นชัดเจน ว่า ใช่ / ไม่ใช่ อ่านข้อสอบอย่างละเอียดมาตราไหนที่เกี่ยวข้องเขียน
กำกับลงไปเลย ตอบให้ครบทุกประเด็น การจับประเด็นเป็นสำคัญที่สุดและยาก แต่
หากเราฝึกซ้อมทำข้อสอบมาก่อนจะเป็นประโยชน์ในการจับประเด็นง่ายขึ้น การ
เขียนตอบที่ดีควรแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ หลักข้อกฎหมาย วินิจฉัย และ
สรุป ใช้ภาษากฎหมายอธิบายประกอบการวินิจฉัยให้ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำสั้น กระชับ
รัดกุม ถูกต้อง เพื่อเป็นการประหยัดเวลา
ศิลปะในการเขียนข้อสอบนี้ขึ้นอยู่กับรายบุคคล ควรที่จะฝึกหัดเขียนให้มาก และ
อาจสอบถามจากผู้รู้ว่าเราเขียนเป็นอย่างไร มีส่วนใดที่ต้องแก้ไขปรับปรุงบ้าง เมื่อ
เราฝึกเขียนบ่อยๆ เราก็จะจับทางได้และจะเขียนได้ดีขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างคือ
ควรเขียนด้วยลายมือที่สวยงามหรืออ่านง่าย และตัวโตชัดเจน
สำหรับการทำกิจกรรมนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับชีวิตนักศึกษา จะทำ
ให้เราได้ทั้งประสบการณ์และเพื่อนพ้อง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆทำให้มีมุมมองมากขึ้น
โดยเฉพาะหากได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นหรือคณะอื่นๆ จะทำให้เราเห็นโลกทัศน์ที่
กว้างยิ่งขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อที่จะได้สามารถทำ
งานร่วมกับผู้อื่นเป็นและดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุข โดย
พิจารณาถึงความพอสมควร ความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนของเรา
ด้วย
ดังนั้น เราจึงต้องถามตนเองให้ดีว่า เราเรียนเพื่ออะไร เราต้องการอะไร ตั้งจุดมุ่ง
หมายของตนเองให้ชัดเจน และที่สำคัญคือ “ไม่มีชัยชนะใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการเอา
ชนะใจตนเองได้” หากมีความตั้งใจจริง ขยันอดทน ความสำเร็จก็คงไม่ยากเกินที่จะ
ไขว่คว้า
ข้าพเจ้าก็ยังเป็นอีกคนหนึ่งที่ยังจะต้องศึกษาอีกมาก แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า
เทคนิควิธีการเรียนนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อ่านทุกท่าน และนำไปประยุกต์ใช้
ให้เข้ากับตนเองได้ หรือเป็นสิ่งที่จุดประกายทางความคิดสำหรับผู้ที่จะศึกษาวิชา
กฎหมาย เพื่อที่จะนำไปทำประโยชน์และรับใช้สังคม ประเทศชาติต่อไปในอนาคต
โดย กิตติยา พรหมจันทร์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น