ยินดีต้อนรับ บล็อกนี้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เคล็ดลับในการสอบใบอนุญาตทนายความ


   
    สวัสดีค่ะดิฉันนางจงกลธนพร วิลาวรรณ บ้านใหม่ นิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี รุ่น 1
ผู้ฝึกอบรมใบอนุญาตทนายความรุ่น 32 และได้สอบผ่านภาคทฤษฎีแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างฝึกภาคปฏิบัติที่สำนักงานทนายความปริวัตร บ้านใหม่ จนถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2552 จึงจะทดสอบภาคปฏิบัติ
ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และให้กำลังใจนักศึกษาทุกคนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะท่านอาจารย์วลัยพร พรพงศ์ และท่านอาจารย์ไวกูณฐ์ ครองยุทธ การอ่านหนังสือดิฉันก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์ทุกท่านแต่ละท่านมีวีธีการของท่านแล้วก็นำมาปรับใช้กับตัวเรา วิธีการอ่านหนังสือของแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ดิฉันก็นำมาปรับใช้กับดิฉันเพราะดิฉันอายุ 39 ปี ถือว่าอายุมาก มีครอบครัวต้องดูแลทั้งที่บ้านและที่สำนักงานของสามี ต้องขยันอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อยและความลำบากอุปสรรคต่างๆ ในการเตรียมตัวดิฉันอ่านเอกสารการบรรยายที่ทางสภาทนายความส่งมาให้ซึ่งถ้าหากผู้สนใจจะนำไปปฏิบัติตามก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ การเตรียมตัวสอบดิฉันปฏิบัติเป็นประจำคือ การเตรียมกาย การเตรียมใจ การเตรียมกายคือการเตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง คือการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ดิฉันจะวิ่งและเต้นแอร์โรบิคเวลา 17.00น.- 18.00 น. อ่านหนังสือ 20.00น.-22.00น. และเวลา 05.00น.-07.00น. วันหนึ่งประมาณ 4 ชั่วโมง ทำสม่ำเสมอ และการเตรี่ยมใจคือทำจิตใจให้สดใสมองโลกในแง่ดีไม่ประมาท สร้างสมาธิ ดิฉันจะสวดมนต์เย็น และนั่งสมาธิที่วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) เป็นประจำเพื่อสร้างพลังให้กับชีวิตและทำให้สมาธิดี และดิฉันเชื่อว่า เป็นการสร้างบุญบารมีด้วย อยู่ที่สำนักงานดิฉันเวลาว่างก็นั่งอ่านตำรากฎหมาย ดิฉันโชคดีที่ทำงานที่เกี่ยวกับกฎหมายโดยตรงจึงหาความรู้ได้ง่าย แต่ถ้าเราไม่ไฝ่รู้ไฝ่เรียนเราก็ไม่มีความรู้เหมือนกัน เพราะตำรามีไว้ถ้านั่งเฝ้าเฉยๆ ก็คงไม่ได้ความรู้อะไร
    การสอบภาคทฤษฎีของสภาทนายความรุ่น 32 ข้อสอบทั้งหมดมีคะแนน 100 คะแนน เวลา 4 ชั่วโมง ผู้สอบผ่านต้องได้คะแนนรวม 50 คะแนนขึ้นไป จะมีกระดาษคำตอบ 2 ชุด ชุดแรกจะเป็นปรนัย 20 ข้อ คะแนน 20 คะแนน ระบายด้วยดินสอ ชุดที่ 2 จะเป็นสมุดตอบข้อสอบอัตนัย 6 ข้อ คะแนนรวม 80 คะแนน จะเป็นการเขียนทั้งหมดการเขียนตอบเมื่อเขียนตอบเสร็จแต่ละข้อ ให้เขียนหน้าใหม่ เพราะถ้าเขียนรวมกันจะต้องโดนตัดคะแนน ก่อนทำข้อสอบให้อ่านคำสั่งดีๆอะไรที่โจทก์ไม่ได้สั่งอย่าเขียนลงไปเวลาตอบต้องดูเวลาด้วย ซึ่งเวลาใกล้สอบดิฉันจะนำข้อสอบเก่าๆ มาเขียนโดยไม่ต้องดูคำตอบแล้วจึงนำไปเปรียบเทียบกับคำตอบ ถ้ามีข้อบกพร่องดิฉันก็แก้ไขให้ถูกต้อง จะทำให้จำได้แม่นยำ การฝึกเขียนเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด ถ้าไม่ฝึกเขียนเวลาสอบเราจะเขียนไม่ทันเวลา เพราะการสอบจริงจะไม่เหมือนตอนอ่านหนังสือ เมื่อเขียนไปแล้วจะแก้ไขก็นึกไม่ได้เพราะเวลาจำกัด เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมจะดีที่สุด ข้อสอบปรนัยจะออกเกี่ยวกับมรรยาทและจริยธรรมทนายความ การดำเนินกระบวนพิจารณาตามวิธีพิจารณาความแพ่ง-ทางอาญา และกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายปกครอง แรงงาน ภาษีอากร หลักการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย
    ส่วนการสอบข้อเขียนจะเป็นการเขียนสัญญา หนังสือมอบอำนาจ หนังสือบอกกล่าว พินัยกรรม คำฟ้องแพ่ง ท้ายฟ้องแพ่ง คำฟ้องอาญา ท้ายฟ้องอาญา คำร้อง คำแถลง คำขอ ซึ่งสามารถศึกษาจากข้อสอบเก่าแต่ละรุ่นเพื่อเป็นแนวทางในการทำข้อสอบ การเขียนข้อสอบที่เป็นคำฟ้องอาญาเราต้องปรับหลักกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริงด้วยแล้วเขียนในคำฟ้อง ถ้าไม่ทำอย่างนั้นข้อนี้อาจจะตกได้ ส่วนการเขียนตอบคำฟ้องแพ่งเราต้องเขียนตามที่เราบอกกล่าวไปเพราะฉะนั้นถ้าข้อสอบให้ทำหนังสือบอกกล่าวให้ทำหนังสือบอกกล่าวให้ดีๆ ถ้าทำผิดเราก็จะฟ้องผิดไปเลย ในตัวโจทก์ต้องแยกให้ได้ว่าจะฟ้องใครบางทีมีโจทก์เป็นนิติบุคคล หรือมีจำเลยเป็นนิติบุคคล ซึ่งต้องดูตรงนี้ด้วย ถ้าหากว่าเรามีความพร้อมมีความละเอียดรอบครอบการสอบใบอนุญาตทนายความก็ไม่ยากอย่างที่คิด ดิฉันจึงขอฝากมายังรุ่นน้องและผู้อ่านหวังว่าท่านจะนำคำแนะนำและเคล็ดลับบางอย่างที่กล่าวมาไปใช้บ้าง ซึ่งภาระกิจต่อไปของดิฉันคือการสอบภาคปฏิบัติให้ผ่าน และดิฉันก็จะเรียนเนติบัณฑิตต่อเมื่อมีสิทธิ์เรียน และคงต้องเรียนต่อปริญญาโทด้วยเพื่อที่จะนำมาใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป ถ้ามีโอกาสจะได้นำเรียนให้ท่านผู้อ่านและรุ่นน้องทราบต่อไป

จงกลธนพร วิลาวรรณ บ้านใหม่
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพทนายความรุ่น 32

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://teacherooh.com/forum/topic/74

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น