ยินดีต้อนรับ บล็อกนี้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คุกและการกักขัง



มุมมองทางมานุษยวิทยามีการศึกษาเรื่องวัฒนธรรมการจองจำและ คุมขังโดย เอิอร์วิ่ง กอฟฟ์แมน (Erving Goffman) กอฟฟ์แมนนอธิบายว่าคุก คือที่อยู่ที่แยกคนออกจากกัน มันเป็นบ้านสำหรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อคนที่เปลี่ยนแปลง กระบวนการจองจำ หรือคุมขังด้วยอำนาจ เป็นการบุกรุกมนุษย์ในเรื่องพื้นที่ เวลาและความเป็นส่วนตัว คุกจึงสะท้อนวัฒนธรรมของการโหยหาอิสรภาพ และความเป็นปัจเจกนิยมโดยใช้การควบคุม และกฏระเบียบเป็นเครื่องมือ แต่การวิจัยในเรื่องนี้ยังคงมีคำอธิบายอื่นๆที่ยังคงรอการตีความ และยังมีคำถามอื่นที่ต้องพิจารณา เช่น เจ้าหน้าที่คุมขัง
กับผู้ถูกคุมขังหรือนักโทษ มีวัฒนธรรมอย่างไร และลักษณะของการคุมขัง กักขัง หน่วงเหนี่ยวมีความหมายอย่างไร และในแต่ละวัฒนธรรม ความหมายของการคุมขังต่างกันอย่างไร
อย่างไรก็ตามการศึกษาทางมานุษยวิทยาในเรื่องนี้ยังมีไม่มากนัก เนื่องจากธรรมชาติของการคุมขังไม่เอื้อำนวยให้มีการวิจัยเท่าใดนัก นักมานุษยวิทยาที่เก็บข้อมูลนักโทษ ต้องระมัดระวังตัวหลายอย่าง และอยู่ในสภาวะเสี่ยงในความปลอดภัย นักมานุษยวิทยาบางคนเชื่อว่าคุกคือการจองจำ เช่นการศึกษาของ Cardozo-Freeman (1984) อธิบายว่าการจองจำนักโทษก็เหมือนการกดขี่เพศหญิง การศึกษาของ Theodore R. Davidson (1983) ศึกษาคุกในชิคาโน่ และพบว่านักโทษมีชีวิตอยู่รอดได้ด้วยเครือข่ายเศรษฐกิจแบบลับๆ
การศึกษาอื่นๆยังอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ของนักโทษในคุกที่มาจากต่างเผ่าพันธุ์เชื้อชาติ แต่อาศัยอยู่ร่วมกันช่วยเหลือกันเพื่อที่จะหนีไปจากการจองจำ นักโทษบางกลุ่มมีพื้นที่ส่วนตัว เพื่อแสดงออกความเป็นตัวเอง เพื่อแยกว่าตนต่างกับคนอื่นอย่างไร การศึกษาในเรื่องบทบาทางเพศของCoggeshall (1991)

อธิบายว่าคุกที่เป็นพื้นที่ทางสังคมที่นักโทษพยายามจำลอง ความแตกต่างทางเพศระหว่างชายหญิง โดยเฉพาะคุกที่คุมขังนักโทษหญิงอย่างเดียว การศึกษาคุกของนักโทษหญิงยังทำให้มีการตรวจสอบสมมุติฐานต่างๆ เกี่ยวกับบทบาททางเพศ พฤติกรรมทางเพศ และความรุนแรงทางเพศ นอกจากนั้นนักโทษหญิงมักจะมีความสัมพันธ์กับเครือญาติของตน ขณะที่อยู่ในคุก
 ส่วนคุกของนักโทษชาย นักโทษชายจะมีการต่อสู้แข่งขันกันรุนแรง การศึกษาของ Mark Fleisher(1989) อธิบายว่าวัฒนธรรมคุก เป็นเรื่องของผู้คุมอำนาจ ผู้คุมในเรือนจำจะมีบทบาทสูงในการจัดการกับนักโทษและวางกฏระเบียบต่างๆ ผู้คุมจึงอยู่ในสภาวะที่ตึงเครียดมาก คุกจึงเป็นแบบจำลองของระบบการปกครองของสังคมที่ต้องการควบคุมมนุษย์ และระงับความรุนแรงต่างๆ แต่คุกขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเป็นสำคัญ นักโทษจะถูกควบคุมทั้งร่างกายและจิตใจในสภาพแวดล้อมของระเบียบที่เคร่งครัด ในแง่นี้ การศึกษาคุกจึงเป็นการตรวจสอบระบบศีลธรรมที่เปราะบาง นักมานุษยวิทยาที่เข้าไปศึกษาคุกต้องสัมภาษณ์นักโทษและเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่ข้อมูลที่ได้มาอาจไม่ตรงกับความจริง เพราะนักโทษและเจ้าหน้าที่อาจปกปิด

การศึกษาวิจัยในคุกจึงมีจำกัดหลายประการ นักมานุษยวิทยาวางตัว ลำบาก การศึกษาคุกในวัฒนธรรมต่างๆอาจทำให้เห็นความแตกต่าง ของ ความหมาย ของคุก หรือเปรียบเทียบคุกกับสถานที่บางแห่งที่มีกลุ่มคนอาศัยอยู่และ ต้องมีกฏเกณฑ์ร่วมกัน เช่น ค่ายทหาร สำนักสงฆ์ โรงพยาบาล สถานดูแลพักฟื้น เป็นต้น การวิจัยเรื่องคุกอาจทำให้เข้าใจเรื่องบทบาททางเพศ สถานะทางสังคมของชายและหญิง อาจทำให้เข้าใจระบบคุณค่า และการแสวงหาอัตลักษณ์ของบุคคล และอาจทำให้ค้นพบหนทางใหม่ๆในเชิงนโยบายสำหรับการลงโทษ และ คุมขังนักโทษ

คุกจึงเป็นพื้นที่ที่ท้าทายในการศึกษา และการทำความเข้าใจข้อจำกัดของมนุษย์ในมิติเวลา สถานที่ คุณค่าทางศีลธรรม การปฏิบัติทางสังคม และกฏระเบียบต่างๆ คุกจึงเป็นหลักฐานที่สำคัญทางวัฒนธรรมที่จะทำให้เข้าใจ สภาพแวดล้อม ที่มนุษย์ที่กดขี่ข่มเหง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://203.172.205.25/ftp/intranet/sac.or.th/Subdetail/old_anthronews/anthronews_jail/jail.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น