ยินดีต้อนรับ บล็อกนี้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

ความแตกต่างของกม.มหาชนและเอกชน


  กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ ระหว่างรัฐด้วยกันในฐานะที่รัฐมีอำนาจเหนือกว่าเอกชนโดยที่รัฐเป็นผู้ใช้ อำนาจปกครอง (รัฐกับรัฐ ,รัฐกับราษฎร ,,,รัฐมีฐานะเหนือกว่า)

กฎหมายเอกชน คือ กฎหมายที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ระหว่าง เอกชนกับเอกชนในฐานะที่เอกชนมีความเท่าเทียมกันและต่างเป็นผู้อยู่ภายใต้ อำนาจปกครองของรัฐ (ราษฎรกับราษฎร ,,,ฐานะเท่าเทียมกัน)

กฎหมาย มหาชนกับกฎหมายเอกชนจึงแตกต่างกันในข้อสำคัญคือ กฎหมายมหาชนนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐและผู้ ปกครองกับพลเมือง ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและบนพื้นฐานของ "หลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งเจตนา" หรือบนพื้นฐานของความเป็น"อิสระของการแสดงเจตนา" โดยจะอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชน ทั้ง 6 ประการ ได้ดังนี้
ด้านองค์กรหรือตัวบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์
ด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย (วัตถุประสงค์)
ด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์
ด้านนิติวิธี
ด้านนิติปรัชญา
ด้านเขตอำนาจศาล


1. ด้านองค์กรหรือตัวบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ กล่าวคือ
กฎหมายมหาชน องค์การหรือบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ คือ "รัฐ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่ง" กับเอกชนฝ่ายหนึ่ง
แต่กรณีของกฎหมายเอกชน ตัวบุคคลที่เข้าไปทำนิติสัมพันธ์คือ "เอกชนกับเอกชน"


2. ด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย (วัตถุประสงค์)
กฎหมายมหาชนมีจุดมุ่งหมายเพื่อสาธารณะประโยชน์และการให้บริการสาธารณะ โดยไม่ได้มุ่งหวังในเรื่องกำไร
แต่ กรณีของกฎหมายเอกชนนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละคน (แต่บางกรณีซึ่งเป็นข้อยกเว้น เอกชนก็อาจทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้ เช่น นักจิตอาสา การตั้งมูลนิธิหรือสมาคมเพื่อการกุศล เป็นต้น)


3. ด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์
กฎหมาย มหาชนมีลักษณะเป็น "การบังคับและหลีกเลี่ยงไม่ได้" ออกมาเป็นรูปคำสั่งหรือข้อห้ามที่เรียกว่า "การกระทำฝ่ายเดียว" กล่าวคือ เป็นการกระทำซึ่งฝ่ายหนึ่งสามารถกำหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่ฝ่ายหลังไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เช่น การออกกฎหมายให้ประชาชนเสียภาษี เป็นต้น
ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็น "อิสระในการแสดงเจตนา" มีความเสมอภาคและเสรีภาพในการทำสัญญา คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะบังคับอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้


4. ด้านนิติวิธี
นิติวิธีของกฎหมายมหาชนจะไม่นำหลักกฎหมายเอกชนมาใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นตามกฎหมายมหาชน แต่จะสร้างหลักของกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้เอง
ส่วนนิติวิธีทางกฎหมายเอกชนนั้น จะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนและมุ่งรักษาประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน


5. ด้านนิติปรัชญา
นิติปรัชญากฎหมายมหาชนนั้น มุ่งประสานประโยชน์สาธารณะกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
แต่นิติปรัชญากฎหมายเอกชนเน้นความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน และอยู่บนเสรีภาพความสมัครใจของคู่กรณี


6. ด้านเขตอำนาจศาล
ปัญหา ทางกฎหมายมหาชนจะขึ้นสู่ศาลพิเศษ ได้แก่ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ วิธีพิจารณาคดีจะใช้"ระบบไต่สวน" ผู้พิพากษาจะสืบหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานด้วยตนเอง
ส่วนปัญหาตาม กฎหมายเอกชนนั้นขึ้นศาลยุติธรรม ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลอาญา วิธีพิจารณาคดีจะใช้"ระบบกล่าวหา" คือ ผู้เป็นคู่กรณีจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ข้อกล่าวหาของตนเอง

ข้อขอบคุณข้อมูลจาก
http://desolation.exteen.com/20120124/lw101

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น