ยินดีต้อนรับ บล็อกนี้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

กฎหมาย กับ ศาสนา ในประเทศไทย


      เนื่องจากความแตกต่างอย่างมากในเรื่องจารีตทางศาสนา การนับถือศาสนาของบุคคล จึงควรเป็นเรื่องที่มีผลทางศาสนาอย่างจริงจัง มากกว่าเป็นเพียงส่วนที่ประดับในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไทยเท่านั้น

           ผมเห็นด้วยว่า ประเทศไทยไม่ควรมีศาสนาประจำชาติ แต่ก็ควรรมีกฎหมายบังคับใช้ สำหรับบุคคลในแต่ละศาสนา ที่มีความต่างในเรื่องจารีต ต่างๆกันไป และเมื่อมันเป็นเรื่องจริงจัง การนับถือศาสนาจึงควรกระทำอย่างจริงจัง

           เมื่อบุคคลมีวัยวุฒิเพียงพอ คือ เมื่อทำบัตรประชาชนครั้งแรก อายุ 15 ปีบริบูรณ์ หรือไม่ก็ เมื่อมีวุฒิภาวะเพียงพอ คืออย่างน้อย 18 ปีบริบูรณ์ เท่าๆกับที่ได้รับสิทธิในการเลือกตั้งควรมีการเลือกศาสนาอย่างจริงจัง โดยมีกระบวนการที่เป็นแบบแผน ควรได้รับการอ้างอิงจากผู้นำทางศาสนาในระดับท้องถิ่นเป็นต้น ว่าบุคคลดังกล่าว เป็นผู้นับถือและประพฤติตัว อยู่ในศาสนานั้นๆจริง

            ทำไมจึงเป็นเรื่องจริงจัง?  ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดบทหนึ่ง คือเกี่ยวกับเรื่องการสมรส ที่นอกจากศาสนาอิสลามที่ผู้ชาย 1 คน สามารถสมรสกับ หญิงได้ถึง 4 คนแล้ว ศาสนาอื่น เท่าที่ทราบ เชื่อว่าควรมีคู่สมรสแค่ 1 คนเท่านั้น

            เท่าที่นึกออก คงมีผลอย่างมากในเรื่องการรับรองบุตร เรื่องสินสมรส และเรื่องเกี่ยวกับมรดก เชื่อว่า สำหรับประชาชนในศาสนาอิสลาม คงมีปัญหากันมายาวนาน และอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่เขาอยากได้กฎหมายอิสลามกัน

            ต่อเนื่องจากการเลือกศาสนา คือกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสมรส คือหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว ควรบังคับให้ต้องทำบัตรประชาชนใหม่ในทันที ซึ่งบัตรประชาชน จะต้องระบุชื่อคู่สมรสไว้อย่างชัดเจนด้วย สิ่งนี้ไม่ได้เป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับช่วยปกป้องสิทธิฯให้กับประชาชนในหลายๆด้านด้วย ทั้งป้องกันการจดทะเบียนซ้อน การหลวกลวง ฉ้อโกง ทำฉ้อฉลต่างๆ

            รวมไปถึงการมีชู้ ที่ควรจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ที่มีโทษรุนแรงสักหน่อย มากกว่าจะปล่อยให้แล้วแต่จารีตของแต่ละสังคม เพราะปัญหาเรื่องชู้สาว มีผลกระทบต่อสังคมในหลายมิติ มีทั้งเสียทรัพย์ เสียประโยชน์ ปัญหาเยาวชน หรือเสียชีวิต เป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียต่อรัฐไปมากมายในแต่ละปี เพราะปัญหาเรื่องชู้สาว ก่อให้เกิดคดีตามมาอีกมากมาย เฉพาะคดีฆาตกรรมก็มากมาย และยังนำไปสู่การหย่าร้าง กลายเป็นคดีมรดก การเกิดเด็กกำพร้าหรือเยาชนที่เป็นภาระของรัฐจำนวนมาก เป็นต้น

            ไม่ว่าจะมองในมิติใด ประเทศไทยก็ไม่ควรจะละเลยในปัญหาดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องจัดการอย่างจริงจัง เพราะชาติจะเข้มแข็งได้ สถาบันครอบครัวก็ต้องแข็งแกร่งเสียก่อน หากละเลยเช่นปัจจุบันต่อไป ลูกหลานในอนาคต อาจเรียกร้องให้เปิดเป็นเพศเสรี(Free Sex)เสียเลย ก็เป็นได้ เพราะนับวัน ระบบจารีตนั้น อ่อนแอลงทุกวัน แค่ปัจจุบัน ก็แทบควบคุมใครไม่ได้อยู่แล้ว

             ที่ผ่านมา เราถือว่ากฎหมายประชาชนต้องปฏิบัติตามโดยเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริง เราย่อมรู้ว่า มันยังไม่เหมาะสมเพียงพอกับความแตกต่างที่มีอยู่จริงของคนในสังคม โดยเฉพาะความต่างทางศาสนา ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางสามจังหวัดชายแดนใต้ ใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวเป็นสำคัญ หากรัฐมีการปรับตัวเข้าหาประชาชนอย่างเหมาะสม ก็ควรสร้างทางออกนี้ให้กับประชาชน แทนที่จะบังคับด้วยวิธีต่างๆนานา ให้ประชาชนปรับตัวเข้าหารัฐแต่ถ่ายเดียว

             หากสิ่งนี้ ได้เป็นจริงขึ้นมาในอนาคต ศาลยุติธรรมก็จำเป็นต้องมีความชำนาญพิเศษในเรื่องศาสนามากขึ้น วิธีพิจารณาคดีของบุคคลในแต่ละศาสนาจะละเลยหลักยึดถือในการดำเนินชีวิตของแต่ละศาสนาไปไม่ได้

             ความคิดนี้ ผมนำมาแบ่งปัน เพราะอาจเป็นทางออกให้ประเทศไทยสงบสุขลงได้ โดยเฉพาะอาจสามารถช่วยแก้ปัญหาทางใต้ได้อีกทางหนึ่ง ที่ผมยกขึ้นมานี้ เป็นเพียงประเด็นเล็กๆ เพียงเรื่องเดียว จากปัญหาอีกมากมายในเรื่องความต่างทางศาสนากับกฎหมายไทย หากผู้มีอำนาจบริหารประเทศ เห็นความสำคัญของเรื่อง ความเข้มแข็งทางศาสนาในชาติมากพอ ประเทศย่อมเข้มแข็งตามไปด้วย ความสงบสุขย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://en-gb.facebook.com/notes/tanadej-tamanakin/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/155104767860180

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 มีนาคม 2559 เวลา 18:58

    แล้วคนที่ไม่นับถือศาสนาจะทำอย่างไรคะ

    ตอบลบ